เครื่องมือตั้งชื่อโดเมน คิดค้นชื่อโดเมนสำหรับเว็บไซต์ธุรกิจ พร้อมเช็คชื่อโดเมนที่ยังว่าง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจซื้อขายบนโลกออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงสถานการณ์ระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้คนอยู่บ้านกันมากขึ้น ทั้ง Work from home เดินทางกันน้อยลง และพยายามออกจากบ้านเมื่อมีเหตุจำเป็น และหันไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก เช่นเดียวกับการสั่งซื้อพร้อมบริการขนส่งผ่่านช่องทางออนไลน์
ธุรกิจเดิมที่ยังไม่เคยมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองมาก่อนก็เริ่มที่จะอยากมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง ธุรกิจใหม่ ๆ ที่กำลังจะเปิดตัวก็ต้องการที่จะมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองเช่นกัน เพราะเว็บไซต์เปรียบเสมือนกับรากฐานของข้อมูลธุรกิจบนโลกออนไลน์ เมื่อธุรกิจมีชื่อธุรกิจแล้ว ก็ต้องหาชื่อโดเมนที่เหมาะสมสำหรับสร้างเว็บไซต์ ต่อด้วยการสร้างช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ เพื่อเพิ่มช่องทางให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของคุณเข้าถึงธุรกิจของคุณได้ง่ายขึ้น
ก่อนใช้เครื่องมือตั้งชื่อโดเมน ทำความรู้จักกันก่อนว่าโดเมนคืออะไร มีความสำคัญอย่างไรบ้าง?
โดเมน คือ ชื่อเว็บไซต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับเว็บไซต์ เนื่องจากเป็นสิ่งที่บ่งบอกตัวตนของธุรกิจของคุณ ชื่อเว็บไซต์ของแต่ละเว็บไซต์ก็จะมีความแตกต่างกันออกไป คุณสามารถค้นหาได้ว่าชื่อโดเมนไหนที่ยังว่างอยู่บ้าง เพื่อทำการลงทะเบียนชื่อโดเมนเพื่อนำไปใช้งานได้ในภายหลัง แต่หลายครั้งที่คุณอาจพบว่า ชื่อโดเมนที่คุณต้องการอาจถูกซื้อไปแล้ว
อย่างไรก็ตามให้ลองเช็คดูก่อนว่าชื่อโดเมนนั้นได้มีการนำไปใช้สร้างเว็บไซต์แล้วหรือยัง เนื่องจากชื่อโดเมนนั้นอาจถูกซื้อไว้เป็นสินทรัพย์สำหรับขายต่อได้ ซึ่งคุณสามารถติดต่อกับเจ้าของชื่อโดเมนนั้นเพื่อสอบถามราคา หากสนใจชื่อนั้นจริง ๆ เพื่อพูดคุยและตกลงราคากันสำหรับชื่อโดเมนนั้น ชื่อโดเมนจะประกอบไปด้วยชื่อเว็บไซต์และนามสกุลเว็บไซต์ ซึ่งนามสกุลเว็บไซต์คือสิ่งที่สามารถใช้บ่งบอกถึงจุดประสงค์ของเว็บไซต์ได้ด้วย
ทำความรู้จักกับนามสกุลเว็บไซต์ และความหมายเบื้องหลัง ก่อนเริ่มใช้งานเครื่องมือตั้งชื่อโดเมน
1. .com
.com เป็นนามสกุลเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดย com ย่อมาจากคำว่า commercial ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจที่แสวงหาผลกำไรมักจะจดชื่อบริษัทเป็นชื่อนี้ เพราะเป็นนามสกุลเว็บไซต์ที่มีการนำไปใช้โดยทั่วไป และยังเป็นที่จดจำได้ง่ายอีกด้วย นอกจากนั้น หลายสิ่งที่คุณสามารถนำเว็บไซต์ไปต่อยอดได้เช่นการทำ affiliate website ใส่โฆษณา หรือสร้าง backlink เพื่อจุดประสงค์ด้าน SEO ในอนาคต ก็มักจะตอบรับแค่เพียงเว็บไซต์ที่มีนามสกุลที่ได้รับความนิยมหรือเป็นที่รู้จักมากกว่า
ทำให้หากเป็นไปได้ หลังจากเจอชื่อโดเมนที่ถูกใจจากเครื่องมือตั้งชื่อโดเมนแล้ว ให้เลือกจดชื่อเว็บไซต์ที่ลงท้ายด้วย .com สำหรับธุรกิจของคุณจะดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าจุดประสงค์ของคุณนั้นเป็นไปเพื่อด้านการค้าอย่างชัดแจ้ง เช่นเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับด้านอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ เป็นต้น
ซึ่งจากข้อมูลของสถิติในการใช้งานจาก Web Technoloy Survey พบว่าเว็บไซต์ที่ลงท้ายด้วยนามสกุล .com ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการใช้งาน ได้แก่
- Google.com
- Youtube.com
- Facebook.com
- Amazon.com
- Yahoo.com
2. .org
เริ่มแรก .org ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อธุรกิจที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยมาจากคำว่า non-profit organization แต่ปัจจุบันก็ถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลาย เพราะ org ยังหมายถึง organization หรือองค์กรต่าง ๆ ได้ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่นามสกุลเว็บไซต์นี้มักจะถูกนำไปใช้สำหรับเว็บไซต์ขององค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการความน่าเชื่อถือ ซึ่งเหมาะสำหรับสำนักงานกฎหมาย สำนักงานตรวจสอบบัญชี หรือเว็บไซต์สำหรับให้ความรู้ เน้นด้านคอนเทนต์ หรือองค์กรที่ทำเพื่อสังคม
อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นธุรกิจที่แสวงหากำไรทั่วไป .org ยังไม่เหมาะสำหรับนำไปใช้เท่าไหร่นัก เมื่อเทียบกับนามสกุลเว็บไซต์ดั้งเดิมอย่าง .com แต่ชื่อ .com อาจได้รับความนิยมมาก จนไม่มีชื่อว่างเหลือให้สามารถจดทะเบียนเพื่อนำไปใช้ได้ .org ก็ยังเป็นอีกหนึ่งตัวเลขที่น่าสนใจเช่นกัน
ตัวอย่างของเว็บไซต์ที่ใช้นามสกุล .org แล้วประสบความสำเร็จได้แก่
- Wikipedia.org
- Telegram.org
- Mozilla.org
- Coursera.org
- Wikimedia.org
- WordPress.org
3. .net
.net เป็นนามสกุลเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมรองลงมาจาก .com ซึ่งน่าจะพอเดากันได้ว่า net ในที่นี้หมายถึง internet หรือ network ทำให้นามสกุลเว็บไซต์นี้เหมาะเป็นอย่างมากสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยี และเว็บไซต์
ซึ่งตัวอย่างของเว็บไซต์ของบริษัทดังที่ลงท้ายด้วย .net ได้แก่
- Slideshare.net
- Php.net
- Speedtest.net
- Slickdeals.net
หากธุรกิจของคุณมีความเกี่ยวข้องกับในด้านดิจิทัล อินเทอร์เน็ต และไอที นามสกุลเว็บไซต์นี้ดูจะเหมาะกับธุรกิจของคุณไม่น้อย อย่างไรก็ตาม หากชื่อธุรกิจของคุณไม่ได้เกี่ยวกับด้านไอที และมีความแตกต่างมากพอ จนมีนามสกุลเว็บไซต์ .com ที่ยังว่างอยู่ ชื่อเว็บไซต์ที่ลงท้ายด้วย .com ก็ยังเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจมากกว่า เพื่อป้องกันความสับสนให้กับผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของคุณ
4. .co
ต่อกันที่ .co นามสกุลเว็บไซต์ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อเว็บไซต์ในประเทศ Columbia เช่นเดียวกันกับ .th ที่ย่อมาจาก Thailand นั่นเอง แต่ต่อมาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังเป็นตัวแทนของ company, corporate และ commercial ในเชิงการค้าได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าบริษัทที่เพิ่งเปิดตัวหรือสตาร์ทอัพทั้งหลาย ที่มักจะเลือกใช้นามสกุลเว็บไซต์นี้
เนื่องจาก .com ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางสำหรับบริษัทโดยทั่วไป และมักจะมีราคาค่าโดเมนที่สูงกว่าตามความนิยม และมักจะถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายจนไม่เหลือชื่อโดเมนว่างให้นำไปใช้จดโดเมนมากนัก
ตัวอย่างเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมแล้วมีนามสกุลเว็บไซต์เป็น .co ได้แก่
- Convertio.co
- Genpi.co
- Lever.co
- Ello.co
- Coinlist.co
5. .edu
หากเว็บไซต์ที่คุณต้องการพัฒนา เป็นเว็บไซต์สำหรับธุรกิจด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน มหาวิทยาลัย .edu ที่ย่อมาจากคำว่า education เหมาะสมสำหรับนำไปใช้เป็นนามสกุลเว็บไซต์อย่างยิ่ง จากข้อมูลของ Web Technology Survey สัดส่วนของเว็บไซต์ที่มีนามสกุลเป็น .edu เพียงแค่ 1 % เท่านั้น ตัวเลขนี้สามารถบ่งบอกได้อย่างดีว่า .edu นั้นเป็นนามสกุลเว็บไซต์สำหรับมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น
ตัวอย่างเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมแล้วมีนามสกุลเว็บไซต์เป็น .edu ได้แก่
- Harvard.edu
- Stanford.edu
- Cornell.edu
- Berkeley.edu
นอกไปจากนามสกุลเว็บไซต์ที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ก็ยังมีนามสกุลเว็บไซต์ในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น นามสกุลที่ลงท้ายด้วยตัวย่อของแต่ละประเทศ อย่างเช่น .de สำหรับเว็บไซต์ในเยอรมัน .uk สำหรับเว็บไซต์ในสหราชอาณาจักร และ .th สำหรับเว็บไซต์ในไทย ซึ่งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับโดเมนสำหรับเว็บไซต์ธุรกิจของไทย ผู้อ่านสามารถพิมพ์ชื่อธุรกิจลงในเครื่องมือตั้งชื่อโดเมนของเรา เพื่อค้นหาชื่อโดเมนที่น่าสนใจ
จากนั้นระบบจะขึ้นมาให้เราตรวจสอบได้ว่ามีโดเมนไหนที่ยังว่างบ้าง ซึ่งในชื่อเดียวกันก็จะมีนามสกุลเว็บไซต์ที่แตกต่างออกไปให้เลือกตามเหมาะสม ซึ่งคุณสามารถเลือกนามสกุลเว็บไซต์ตามเหมาะสมได้เลย อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้ให้เลือกเป็นนามสกุล .com จะดีที่สุด เพราะเป็นนามสกุลเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด และยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อจุดประสงค์ด้านการค้าขายในอนาคตด้วย
โดเมนที่ดีควรประกอบไปด้วยปัจจัยอะไรบ้าง?
1. ชื่อโดเมนไม่ควรยาวเกินไป และสะกดได้ง่าย
เวลาที่ผู้คนค้นหาข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณ ก็มักจะค้นหาโดยการค้นหาด้วยชื่อเว็บไซต์ของคุณ เพื่อความสะดวกสบายในการนำไปใช้ค้นหาและเพื่อให้จดจำได้ง่าย การเลือกใช้ชื่อที่กระชับและสะกดได้ง่ายจะดีที่สุด นอกจากนี้ก็ควรเป็นคำที่ออกเสียงได้ง่าย ไม่สร้างความสับสนให้กับคนเรียกด้วย เพื่อป้องกันปัญหาในการสะกดคำผิดที่อาจตามมา
2. สร้างชื่อโดเมนจากชื่อบริษัทหรือคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง
ปกติแล้วชื่อโดเมนมักจะสร้างจากชื่อบริษัท แต่คุณยังสามารถตั้งชื่อโดเมนจากคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมของคุณได้ด้วย เช่น ถ้าธุรกิจของคุณเกี่ยวข้องในด้านการก่อสร้าง คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องก็จะเป็นการพัฒนา (development) สถาปัตย์ (architecture) หรือ ก่อสร้าง (building) จากนั้นก็ใช้เครื่องมือตั้งชื่อโดเมนของเรา คิดค้นชื่อโดเมนโดยใช้คีย์เวิร์ดได้
ชื่อที่ตั้งมาจากคีย์เวิร์ดแบบนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อเทคนิค SEO สำหรับเว็บไซต์ด้วย เพราะจะคนใช้เสิร์ชเพื่อค้นหาสินค้าและบริการจากคีย์เวิร์ดนั้น หากคุณไม่มีไอเดียเรื่องคีย์เวิร์ด สามารถใช้ Google Keyword Planner เป็นตัวช่วยได้ ด้วยการค้นหาว่าปกติแล้ว คนมักเสิร์ชคำว่าอะไรเกี่ยวกับอุตสาหกรรมธุรกิจของคุณ คีย์เวิร์ดแพลนเนอร์ตัวนี้ยังเป็นประโยชน์อย่างมากในการค้นหาคีย์เวิร์ดอื่น ๆ เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนการเขียนคอนเทนต์เพื่อโปรโมทสินค้าและบริการของธุรกิจของคุณได้เป็นอย่างดีด้วย
3. พยายามเลี่ยงการใช้ตัวเลขและเครื่องหมาย
การตั้งชื่อโดเมนไม่ควรประกอบไปด้วยตัวเลขหรือเครื่องหมาย เพราะทำให้นอกจากจะออกเสียงยากแล้ว ยังเป็นที่จดจำได้ยาก และสะกดคำได้ยากอีกด้วย
4. สร้างชื่อโดเมนที่เป็นที่น่าจดจำ
ชื่อธุรกิจรวมไปถึงชื่อโดเมนอาจเป็นคนละชื่อกับบริษัทก็ได้ และยังไม่จำเป็นต้องเป็นชื่อที่ตรงกันธุรกิจนั้นเป๊ะ ๆ ตัวอย่างเช่นเว็บไซต์ The Cloud เป็นของบริษัทคลาวด์แอนด์กราวนด์ จำกัด โดยบริษัทนิยามตัวเองว่าเป็น Magazine on Cloud หรือแม็กกาซีนออนไลน์ นำเสนอคอนเทนต์ด้วยพลังแบบนิตยสาร จะเห็นได้ว่าชื่อโดเมนนั้นต่างจากชื่อบริษัทเล็กน้อย มีความสั้นและกระชับว่า ทำให้เป็นที่จดจำได้ง่ายมากขึ้นด้วย ซึ่งชื่อที่แหวกแนวและไม่ซ้ำใครแบบนี้ จะช่วยเรียกความสนใจ และเป็นที่จดจำได้มากกว่า
5. ตรวจสอบเครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้าหรือบริการ (trademark หรือ service mark) คือ เครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการ เพื่อแสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีการใช้เครื่องหมายที่แตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของบริษัทอื่น เช่นเครื่องหมายของบรีส มาม่า กระทิงแดง รวมทั้งสายการบิน ธนาคาร และโรงแรม เป็นต้น หากคุณมีชื่อโดเมนที่ต้องการจดทะเบียนเพื่อใช้งานแล้ว ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ควรเช็คสักนิดก่อนว่า ชื่อโดเมนนั้นไปตรงกับเครื่องหมายทางการค้าของบริษัทหรือธุรกิจอื่นใดหรือไม่
เพราะหากละเลยขั้นตอนที่สำคัญนี้ไป อาจอยู่ในความเสี่ยงที่ถูกฟ้องร้องจากเจ้าของเครื่องหมายทางการค้าได้ เพราะชื่อโดเมนตรงกับชื่อเครื่องหมายทางการค้าของเขา และอาจสร้างความสับสนให้กับลูกค้าได้ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากข้อมูลเครื่องหมายการค้าจากเว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่นี่ ipthailand.go.th/th/trademark
หาชื่อโดเมนที่ยังว่างด้วยเครื่องมือตั้งชื่อโดเมนของเรา
หากลองใช้เครื่องมือตั้งชื่อโดเมนของเราในการค้นหาชื่อโดเมนที่ชอบแล้ว ก็สามารถตรวจสอบต่อเนื่องได้เลยว่าชื่อโดเมนนั้นมีคนซื้อไปแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่มี ก็สามารถจดทะเบียนชื่อโดเมนนั้นได้ หากมีคนใช้ไปแล้วด้วยนามสกุลเว็บไซต์หนึ่ง คุณก็อาจใช้ชื่อเดียวกันด้วยอีกหนึ่งนามสกุลเว็บไซต์ได้
แต่ถ้านามสกุลเว็บไซต์ที่คุณต้องการยังถูกซื้อไปแล้วด้วย ให้ตรวจสอบก่อนว่ามีการนำไปสร้างเป็นเว็บไซต์หรือยัง แล้วถ้าคุณสนใจที่จะได้ชื่อโดเมนนั้นจริง ๆ ก็สามารถติดต่อเจ้าของชื่อโดเมนนั้นเพื่อขอซื้อชื่อโดเมนได้โดยตรง
หลังจากได้อ่านบทความนี้ ผู้อ่านน่าจะได้ทำความรู้จักกับชื่อโดเมนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น นามสกุลเว็บไซต์ต่าง ๆ วิธีตั้งชื่อโดเมนที่ดี รวมไปถึงการหาชื่อโดเมนที่ยังว่างด้วยเครื่องมือตั้งชื่อโดเมนของเราด้วย หากยังไม่มีไอเดียเกี่ยวกับการคิดชื่อธุรกิจหรือคีย์เวิร์ดที่น่าสนใจ ก็สามารถรวบรวมไอเดียในเบื้องต้นได้ด้วยคีย์เวิร์ดแพลนเนอร์จาก Google และเมื่อคุณเจอชื่อโดเมนที่ถูกใจแล้ว ก็อย่าลืมตรวจสอบเรื่องเครื่องหมายทางการค้าก่อนซื้อโดเมน จะได้แน่ใจได้ว่าชื่อโดเมนสำหรับธุรกิจของคุณไม่ซ้ำใคร และสามารถพัฒนาในเชิงธุรกิจในอนาคตได้อย่างราบรื่น
อ้างอิง:
- https://www.godaddy.com/garage/what-is-a-domain-name/
- https://www.godaddy.com/garage/most-common-domain-extensions/
- https://www.ironpaper.com/current/2014/03/net-websites-are-still-popular
- https://w3techs.com/technologies/details/tld-org-
- https://w3techs.com/technologies/details/tld-co-
- https://www.ipthailand.go.th/th/component/zoo/item/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2.html